ประวัติความเป็นมา
ตราสัญลักษณ์
อำเภอเขมราฐเดิมมีฐานะเป็นเมือง และเป็นเมืองที่มีบทบาทสำคัญต่อเมืองอื่นๆ ในภูมิภาคนี้พอสมควรเพราะเป็นเมืองที่เทียบได้กับหัวเมืองเอก ขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร มิได้ขึ้นกับเมืองอุบลราชธานีเช่นเมืองอื่นๆ นอกจากนั้นเมืองเขมราฐยังมีเมืองขึ้นอีกหลายเมือง เช่น เมืองอำนาจเจริญ เมืองคำเขื่อนแก้ว เป็นต้น
สำหรับการตั้งเมืองเขมราฐ ปรากฏเอกสารที่เป็นหลักฐานว่าใน พ.ศ. 2357 ซึ่งเป็นปีเดียวกับพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าตั้งเมืองยโสธรขึ้น อุปฮาด (ก่ำ) ซึ่งเป็นอุปฮาดเมืองอุบลราชธานี ไม่พอใจที่ทำราชการกับพระพรหมราชวงศา (ท้าวทิศพรหม) เจ้าเมืองอุบลราชธานีคนที่ 2 จึงอพยพไพล่พลไปหาทำเลที่เหมาะสมตั้งเมืองขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นการสนองพระบรม ราโชบายในการตั้งเมืองขึ้นใหม่ในช่วงระยะเวลานั้นๆ ในที่สุดพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านโศกกงพะเนียง ขึ้นเป็นเมืองเขมราฐธานีขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร เมื่อ พ.ศ. 2357 พร้อมทั้งโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้อุปฮาด (ก่ำ) เป็นพระเจ้าเทพวงศาเมือง
ตลอดสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมืองเขมราฐมีความสำคัญ และขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานครตลอดมา ครั้นถึง พ.ศ. 2371 เมื่อเสร็จสิ้นสงครามปราบกบฏเจ้าอนุแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าให้เมืองโขงเจียม ซึ่งเคยขึ้นตรงต่อเจ้าเมืองจำปาสัก มาขึ้นตรงต่อเมืองเขมราฐ เป็นผลให้เมืองเขมราฐมีบทบาทมากขึ้น เมื่อโปรดเกล้าให้ตั้งเมืองคำเขื่อนแก้วในปี พ.ศ. 2388 เมืองอำนาจเจริญในปี พ.ศ. 2401 ก็โปรดเกล้าให้ขึ้นตรงต่อเมืองเขมราฐเช่นกัน ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อมีการปรับปรุงการปกครองส่วนภูมิภาคครั้งใหญ่ เพื่อให้บังเกิดผลตามที่กำหนดใน “ พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. 116 ” มณฑลอีสานถูกแบ่งออกเป็น 8 บริเวณ สำหรับเมืองอุบลราชธานีที่อยู่ 3 เมือง คือเมืองอุบลราชธานี เมืองเขมราฐ และเมืองยโสธร แต่ละเมืองมีพื้นที่ขึ้นตรงหลายอำเภอดังที่ปรากฏว่าในปี พ.ศ. 2445 เมืองเขมราฐมีพระเขมรัฐเดชธนีรักษ์ (คำบุ) เป็นผู้ว่าราชการเมือง และมีอำนาจอยู่ในปกครอง 6 อำเภอ คือ อำเภออุทัยเขมราฐ อำเภอประจิมเขมราฐ อำเภออำนาจเจริญ อำเภอคำเขื่อนแก้ว อำเภอโขงเจียม และอำเภอวารินชำราบ อันแสดงให้เห็นว่าเมืองเขมราฐ ยังเป็นเมืองที่มีความสำคัญมาก
ต่อมาใน พ.ศ. 2452 ได้มีการปรับปรุงการปกครองภายในบริเวณเมืองอุบลราชธานีอีก ครั้งหนึ่ง เมืองเขมราฐถูกลดฐานะเป็นอำเภอ และรวมอำเภออุทัยเขมราฐ และอำเภอประจิมเขมราฐ เข้าด้วยกันเป็นอำเภออุทัยเขมราฐขึ้นกับเมืองยโสธร แต่ก็ยังเป็นบริเวณอุบลราชธานีอยู่เหมือนเดิม ในราชการพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการแยกมณฑลอีสานออกเป็น 2 มณฑล คือ มณฑลอุบลราชธานี กับมณฑลร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2455 และมีการปรับปรุงให้เหมาะสม เมืองยโสธรถูกยกเลิกไป เมืองอุทัยเขมราฐก็มีฐานะเป็นอำเภอขึ้นกับจังหวัดอุบลราชธานีตลอดมาจนถึงปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าให้ตั้งบ้านกงพะเนียง ขึ้นเป็นเมืองชื่อ “ เมืองเขมราษฎร์ธานี ” ขึ้นกับกรุงเทพมหานคร พร้อมกันนั้นได้ตั้งให้อุปฮาด (ก่ำ) เป็นเจ้าเมืองคนแรกในปี พ.ศ. 2357 แม้ว่าเมืองเขมราษฎร์ธานี จะเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองเขมราฐในภายหลัง แต่ก็มีความหมายเดียวกันคือ “ ดินแดนแห่งความเกษมสุข ” (ราษฎร์) เป็นคำที่มาจากภาษาลีสันสกฤตมีความหมายตรงกับ “รัฐ” หรือ “รัฏฐ” ซึ่งมาจากภาษาบาลี หมายถึง แว่นแคว้น หรือดินแดนนั้นเอง ส่วน “เขม” เป็นคำมาจากภาษาบาลี หมายถึง ความเกษมสุข ซึ่งหมายความตรงกับ เกษม ที่มาจากภาษาสันสกฤต) ต่อมาเมืองเขมราฐ เปลี่ยนมาเป็น อำเภอเขมราฐ ขึ้นกับจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อ พ.ศ. 2452 โดยมีพระเกษมสำราญรัฐ เป็น นายอำเภอคนแรก อำเภอเขมราฐ