พระดังเมืองอุบลราชธานี พระเจ้าใหญ่องค์แสน พระพุทธรูปเก่าแก่คู่เมืองเขมราฐธานี อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี
เชิญแวะเที่ยวกราบสักการะ พระเจ้าใหญ่องค์แสน พระพุทธรูปเก่าแก่ คู่เมืองเขมราฐธานี จังหวัดอุบลราชธานี วัดโพธิ์ ตั้งอยู่ใกล้ถนนคนเดิน อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นที่ประดิษฐานของพระเจ้าใหญ่องค์แสน พระพุทธรูปเก่าแก่คู่เมืองเขมราฐ ที่สร้างด้วยอิฐโบราณ ถือด้วยน้ำเกสรดอกไม้และน้ำเปลือกไม้ ตามภูมิปัญญาของคนโบราณ
https://khemaratthani.go.th/info-service/travel/item/860-travel-2#sigProGalleria89e4068d62
ประวัติวัดโพธิ์ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ตามที่มีการบันทึกไว้เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 4 ไร่ 1 งาน 50 ตารางวา อาณาเขตทิศ เหนือจดแม่น้ำโขง ทิศใต้จดถนนกงพะเนียง ทิศตะวันออกจดซอยอนามัย ทิศตะวันตกจดที่ดินเอกชน อาคารเสนาสนะประกอบด้วย อุโบสถ กว้าง 6 เมตร ยาว 15 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ.2512 ศาลาการเปรียญ กว้าง 12 เมตร ยาว 24 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ.2499 กุฏิสงฆ์ จํานวน 4 หลัง เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ 3 หลังและตึก 1 หลัง ศาลาอเนกประสงค์ กว้าง 9 เมตร ยาว 15 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2523 และศาลาบําเพ็ญกุศล จํานวน 1 หลัง ปูชนียวัตถุที่สำคัญ คือ พระเจ้าใหญ่องค์แสน พระประธานเก่าแก่สร้างด้วยอิฐ พระพุทธรูปปางมารวิชัยสร้างด้วยทองสําริด และพระพุทธรูปที่ห่อหุ้มด้วยโลหะทอง
วัดโพธิ์ ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2331 โดยแม่ชี (แม่ขาว) ได้หนีภัยสงคราม นำผู้คนอพยพลงมาจากเวียงจันทน์ พร้อมด้วยลูกหลานญาติโยมลงมาตามลำน้ำโขง มายึดชัยภูมิแห่งนี้ตั้งหมู่บ้านและวัดขึ้นในสมัยพระเจ้าตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรี เดิมวัดตั้งอยู่ที่ทําการศุลกากรและสถานีอนามัยในปัจจุบัน ต่อมาชาวบ้านได้พบพระพุทธรูปที่กลางป่ามีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่ด้วยจึงย้ายวัดมาตั้งอยู่ในที่ปัจจุบัน และตั้งชื่อว่า วัดโพธิ์ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2516 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 20 เมตร ยาว 40 เมตร การบริหารและการปกครอง มีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม คือรูปที่ 1 พระหนูสิน รูปที่ 2 พระทา รูปที่ 3 พระพรหมา รูปที่ 4 พระอุย รูปที่ 5 พระแดง รูปที่ 6 พระประภัส ปญญาพโล รูปที่ 7 พระครูวรกิจโกวิท พ.ศ. 2505- ซึ่งเป็นทั้งเจ้าอาวาสวัดโพธิ์และเจ้าคณะอำเภอเขมราฐ
"พระเจ้าใหญ่องค์แสนวัดโพธิ์" พระเจ้าใหญ่องค์แสน ประดิษฐาน ณ วัดโพธิ์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 1.09 เมตร สูงรวมเกศ 1.59 เมตร สร้างด้วยอิฐโบราณถือด้วยน้ำเกสรดอกไม้และน้ำเปลือกไม้ ตามภูมิปัญญาของคนโบราณ (สมัยนั้นไม่มีปูนซีเมนต์) เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของชาวเขมราฐและจังหวัดอุบลราชธานี พระพุทธรูปลักษณะนี้มีเพียงองค์เดียวเท่านั้นที่ประดิษฐานอยู่ริมฝั่งลำน้ำโขง พระเจ้าใหญ่องค์แสนถูกสร้างขึ้นสมัยใดนั้นยังหาหลักฐานที่ชัดเจนยืนยันไม่ได้ มีเพียงการบันทึกจากคำบอกเล่าสืบต่อกันมาเท่านั้น แม้จะมีความพยายามในการค้นคว้าหาข้อมูลแล้วแต่ไม่พบ มีนายด่านศุลกากรท่านหนึ่งเคยบอกไว้ว่า “มีประวัติพระเจ้าใหญ่องค์แสนอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติและเคยอ่านพบว่าพระเจ้าใหญ่องค์แสนสร้างก่อนพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ วัดปากแซง”
"พระพุทธเขมรัฐวรมงคล วัดโพธิ์" พระพุทธเขมรัฐวรมงคล ประดิษฐาน ณ วัดโพธิ์ เป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะแบบผสมผสานของพระพุทธรูปองค์ต่าง ๆ เช่น พระเจ้าใหญ่องค์แสน พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ พระพุทธโสธร และพระพุทธสิหิงส์ สร้างด้วยปูนปั้นโครงเหล็ก หน้าตักกว้าง 5 เมตร สูง 7 เมตร ได้วางฤกษ์สร้างแท่นประดิษฐานเมื่อวันศุกร์ที่ 5 มีนาคม 2547 ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ปีมะแม จ.ศ.1365 เวลา 06.09 น. อำนวยการสร้างโดย พระครูวรกิจโกวิท เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเฉลิมพระเกียรติแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระราชินีในรัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี ที่ทรงได้เจริญพระชนมายุครบ 6 รอบ 72 พรรษา
แสดงความคิดเห็น
***กรุณาแสดงความคิดเห็น ด้วยความสุภาพ เคารพต่อสิทธิของผู้อื่น ไม่ละเมิดต่อกฎหมาย และศีลธรรมอันดีของสังคม